นางสาวสุริยา ดวงมณี (ที่ 3 จากขวา) หัวหน้าสายทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับรางวัล “องค์กรสุขภาวะดีเด่นระดับก้าวหน้า ในโครงการส่งเสริมงานสุขภาวะในองค์กรเพื่อคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี” จากนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ (กลาง) ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสสส. และสมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร เพื่อส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ (กาย ใจ สังคม และจิตปัญญา) และดูแลคุณภาพบุคลากรในองค์กร
ทั้งนี้ เอสเอสไอ ได้นำแนวคิดการสร้างองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) และความสุข 8 ประการ ( Happy 8 ) มาสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงาน ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของเอสเอสไอ iFacts+ (คนเก่ง ดี มีใจ) ส่งเสริมให้บุคลากรมีความพร้อม และร่วมสร้างสรรค์การดำเนินงานและสังคมที่ดีเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน
Innovate • Tomorrow
สร้างคนเก่ง ดี มีใจ เอสเอสไอมอบรางวัลพนักงานประจำปี 2567
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จัดพิธีมอบรางวัลพนักงานประจำปี 2567 ให้กับพนักงานจำนวน 277 คน ประกอบด้วย
พนักงานอายุการทำงาน 20 ปี จำนวน 15 คน พนักงานอายุการทำงาน 10 ปี จำนวน 14 คน พนักงานดีเด่น จำนวน 28 คน พนักงานตัวอย่างที่ดี จำนวน 79 คน พนักงานตัวอย่างที่ดีชมเชย จำนวน 115 คน พนักงาน ARSA IDOL จำนวน 3 คน และพนักงานส่งผลงาน Kaizen จำนวน 12 คน
โดยมีนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารเป็นผู้มอบรางวัล ณ อาคารออดิทอเรียม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
เอสเอสไอตระหนักดีว่าบุคลากรถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามีความสำคัญที่ทำให้องค์กรดำเนินธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ จึงได้กำหนดโครงสร้างการจ้างงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการ การพัฒนาทักษะความรู้ ส่งเสริมความสัมพันธ์พนักงานและครอบครัวพนักงานให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ การจัดพิธีมอบรางวัลพนักงานเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นการเชิดชูเกียรติให้พนักงานที่ได้อุทิศตนเพื่อองค์กร รับผิดชอบงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ และทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยในปีนี้ “เอสเอสไอ” ได้มีการเพิ่มรางวัลพนักงาน ARSA IDOL ซึ่งคัดเลือกพนักงานต้นแบบในการทุ่มเทเสียสละเวลา แรงกายและมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะอุทิศเวลาในการทำความดีเพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงาน และยังมีรางวัล Kaizen Point Award สำหรับพนักงานที่ส่งผลงาน Kaizen และได้รับคะแนน (Point) มากกว่า 1,500 คะแนน โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการหาแนวทางปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความสูญเปล่า และเพิ่มคุณภาพของงาน ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการผลิตและการดำเนินงานในองค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การมอบรางวัลต่างๆ ให้พนักงานนอกจากเป็นการเชิดชูเกียรติให้พนักงานแล้วยังเป็นการส่งเสริมนโยบาย สร้างคนเก่ง ดี มีใจ ขององค์กรอีกด้วย
ฅนเหล็กมินิมาราธอน ครั้งที่ 16 ถวายเงินรายได้ส่วนหนึ่งสมทบโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสมทบโครงการต่อต้านโรคขาดสารไอโอดีนตามพระราชดำริ
วันที่ 3 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคคล เฝ้าทูลละอองพระบาท
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหารบริษัทฯ และผู้จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล ฅนเหล็กมินิมาราธอน ประจำปี 2567 ครั้งที่ 16 เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว สมทบโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพื่อสนับสนุนโครงการต่อต้านโรคขาดสารไอโอดีนตามพระราชดำริ
“กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล ฅนเหล็กมินิมาราธอน” ครั้งที่ 16 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก 7 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ (SSI) บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) (TCRSS) บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด (NS BlueScope) บริษัท เอ็นเอส-สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด (NS-SUS) บริษัท เจเอฟอี สตีล กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (JSGT) บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) (GSteel) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) (GJS)
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดต่อเนื่อง 16 ครั้ง รวมรายได้มอบสนับสนุนการดำเนินงานช่วยเหลือองค์กรที่ดูแลผู้ด้อยโอกาสสะสม 40 ล้านบาท
เอสเอสไอร่วม 11 องค์กร นำร่อง-อบก. ทดสอบแพลตฟอร์มรายงานก๊าซเรือนกระจก
นายทนงศักดิ์ แข่งขัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายการผลิต บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ “โครงการทดสอบแพลตฟอร์มคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อมุ่งสู่ Net Zero” (ระยะที่ 2) ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้เป็น 1 ใน 12 องค์กรธุรกิจ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการสำหรับขยายผลและการทดสอบแพลตฟอร์มในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อใช้ในการเสนอแนะและพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาวสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศในปี 2065
ทั้งนี้ เอสเอสไอ มีแนวทางหลักในการลดการปลดปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย
1.พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ปรับปรุงกระบวนการรีดร้อนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น เพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ในโรงงาน
3.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบและลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
4.ชดเชยคาร์บอนที่เลี่ยงไม่ได้ (Carbon Offset) ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการดูดซับคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อย CO₂ ที่ยังไม่สามารถลดได้ เช่น โครงการปลูกป่าฯ
5.เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Trading) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
“โครงการนี้นับเป็นอีกก้าวที่ท้าทายของเอสเอสไอ แต่การบรรลุเป้าหมายไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร ทั้งผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก้าวนี้ไม่ใช่แค่เป้าหมายทางธุรกิจแต่เป็นภารกิจแห่งความรับผิดชอบ เพียงความร่วมมือที่แข็งแกร่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และที่สำคัญเราจะสร้างอุตสาหกรรมที่ “เติบโตอย่างยั่งยืน” พร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย” นายทนงศักดิ์ กล่าว
SSI สร้างโซลูชั่นเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร พัฒนา “โมดูลาร์ฟาร์มโครงสร้างเหล็ก”
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTECH) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ผลิตต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมิ แบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” ซึ่งเป็นระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อม เข้ากับการออกแบบโมดูลาร์ ช่วยให้การเพาะปลูกเป็นไปได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ตามแนวส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น) รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่อนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน หรือ Smart Agriculture Industry (SAI)
ต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมินี้ นับเป็นนวัตกรรมและโซลูชั่นทางธุรกิจของเอสเอสไอ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเหล็กซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยนำเหล็กมาเป็นโครงสร้างหลักของตู้เพาะเห็ด มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 3 เมตร โดยภายในตู้โรงเรือนมีการแบ่งสัดส่วนห้องเพื่อใช้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จำนวน 4 ห้อง ได้แก่
1) ห้องบัฟเฟอร์ (Buffer room) เป็นห้องที่มีอินเตอร์ล็อคอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยป้องกันมลพิษจากพื้นที่สะอาดจากพื้นที่ที่ไม่สะอาด และป้องกันไม่ให้กระแสลมในบริเวณที่ไม่สะอาดเข้าสู่บริเวณที่สะอาดโดยตรง
2) ห้องเขี่ยเชื้อ และเพาะเชื้อ เป็นห้องที่มีอุณภูมิทำงานปกติ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีระบบแสงสว่างภายในตู้โรงเรือนสำหรับการทำงาน และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นภายใน
3) ห้องบ่มเชื้อ ห้องนี้ควบคุมอุณหภูมิ 23-25 องศาเซลเซียส และสามารถระบายอากาศได้ดี ควบคุมกลิ่นจากเส้นใยที่บ่มภายในห้องด้วยเครื่องฟอกอากาศ และไม่มีการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
4) ห้องเปิดดอก ควบคุมแสงสว่างให้ไม่เกิน 500 – 1,000 ลักซ์ (Lux) อุณหภูมิ 16-19 องศาเซลเซียส คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระหว่างเปิดดอกไม่เกิน 1,000 ส่วนต่อล้าน (Parts per million: ppm) โดยความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %RH (Relative Humidity) และมีระบบพ่นหมอกแบบอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic)
ลักษณะเด่นของฟาร์มแบบโมดูลาร์ โครงสร้างเหล็ก ประกอบไปด้วย
1) โครงสร้างแบบแยกส่วน (Modular Design) สามารถเพิ่มหรือลดขนาดของฟาร์มได้ง่าย ขนย้ายและติดตั้งสะดวก
2) การควบคุมสภาพแวดล้อม ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง และสารอาหารได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศและโรคพืช
3) การประหยัดพื้นที่ เหมาะสำหรับชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีพื้นที่จำกัด เช่น บนดาดฟ้า โรงเรือน หรือคอนเทนเนอร์ เน้นการปลูกแนวตั้ง (Vertical Farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่
4) ความยั่งยืน (Sustainability) ใช้น้ำน้อยกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม (เช่น ระบบไฮโดรโปนิกส์หรือแอโรโปนิกส์) ลดการใช้สารเคมีและของเสีย
สำหรับโรงเรือนเกษตรโครงสร้างเหล็กแบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” นี้ ถูกนำไปจัดแสดงในงาน FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก
หากท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเรืองฤทธิ์ กองธรรม หัวหน้าสำนักธุรกิจโซลูชั่นอาคารเกษตรกรรม “เอสเอสไอ” (RoengritK@ssi-steel.com)
“Modular Farm” คืออนาคตของเกษตรยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ช่วยลดคาร์บอนและลดต้นทุน
Innovate • Tomorrow