26Feb/25

เอสเอสไอร่วม 11 องค์กร นำร่อง-อบก. ทดสอบแพลตฟอร์มรายงานก๊าซเรือนกระจก

นายทนงศักดิ์ แข่งขัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายการผลิต บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ “โครงการทดสอบแพลตฟอร์มคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อมุ่งสู่ Net Zero” (ระยะที่ 2) ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้เป็น 1 ใน 12 องค์กรธุรกิจ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการสำหรับขยายผลและการทดสอบแพลตฟอร์มในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อใช้ในการเสนอแนะและพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาวสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศในปี 2065
ทั้งนี้ เอสเอสไอ มีแนวทางหลักในการลดการปลดปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย
1.พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ปรับปรุงกระบวนการรีดร้อนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2.เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น เพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ในโรงงาน
3.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบและลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
4.ชดเชยคาร์บอนที่เลี่ยงไม่ได้ (Carbon Offset) ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการดูดซับคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อย CO₂ ที่ยังไม่สามารถลดได้ เช่น โครงการปลูกป่าฯ
5.เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Trading) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
“โครงการนี้นับเป็นอีกก้าวที่ท้าทายของเอสเอสไอ แต่การบรรลุเป้าหมายไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร ทั้งผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก้าวนี้ไม่ใช่แค่เป้าหมายทางธุรกิจแต่เป็นภารกิจแห่งความรับผิดชอบ เพียงความร่วมมือที่แข็งแกร่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และที่สำคัญเราจะสร้างอุตสาหกรรมที่ “เติบโตอย่างยั่งยืน” พร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย” นายทนงศักดิ์ กล่าว

18Feb/25

SSI สร้างโซลูชั่นเกษตรสมัยใหม่ครบวงจร พัฒนา “โมดูลาร์ฟาร์มโครงสร้างเหล็ก”

บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTECH) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ผลิตต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมิ แบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” ซึ่งเป็นระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อม เข้ากับการออกแบบโมดูลาร์ ช่วยให้การเพาะปลูกเป็นไปได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ตามแนวส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรโดยเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น) รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่อนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน หรือ Smart Agriculture Industry (SAI)
ต้นแบบตู้เพาะเห็ดควบคุมอุณหภูมินี้ นับเป็นนวัตกรรมและโซลูชั่นทางธุรกิจของเอสเอสไอ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเหล็กซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยนำเหล็กมาเป็นโครงสร้างหลักของตู้เพาะเห็ด มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 3 เมตร โดยภายในตู้โรงเรือนมีการแบ่งสัดส่วนห้องเพื่อใช้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จำนวน 4 ห้อง ได้แก่
1) ห้องบัฟเฟอร์ (Buffer room) เป็นห้องที่มีอินเตอร์ล็อคอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยป้องกันมลพิษจากพื้นที่สะอาดจากพื้นที่ที่ไม่สะอาด และป้องกันไม่ให้กระแสลมในบริเวณที่ไม่สะอาดเข้าสู่บริเวณที่สะอาดโดยตรง
2) ห้องเขี่ยเชื้อ และเพาะเชื้อ เป็นห้องที่มีอุณภูมิทำงานปกติ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีระบบแสงสว่างภายในตู้โรงเรือนสำหรับการทำงาน และไม่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นภายใน
3) ห้องบ่มเชื้อ ห้องนี้ควบคุมอุณหภูมิ 23-25 องศาเซลเซียส และสามารถระบายอากาศได้ดี ควบคุมกลิ่นจากเส้นใยที่บ่มภายในห้องด้วยเครื่องฟอกอากาศ และไม่มีการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
4) ห้องเปิดดอก ควบคุมแสงสว่างให้ไม่เกิน 500 – 1,000 ลักซ์ (Lux) อุณหภูมิ 16-19 องศาเซลเซียส คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระหว่างเปิดดอกไม่เกิน 1,000 ส่วนต่อล้าน (Parts per million: ppm) โดยความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %RH (Relative Humidity) และมีระบบพ่นหมอกแบบอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic)
ลักษณะเด่นของฟาร์มแบบโมดูลาร์ โครงสร้างเหล็ก ประกอบไปด้วย
1) โครงสร้างแบบแยกส่วน (Modular Design) สามารถเพิ่มหรือลดขนาดของฟาร์มได้ง่าย ขนย้ายและติดตั้งสะดวก
2) การควบคุมสภาพแวดล้อม ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง และสารอาหารได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศและโรคพืช
3) การประหยัดพื้นที่ เหมาะสำหรับชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีพื้นที่จำกัด เช่น บนดาดฟ้า โรงเรือน หรือคอนเทนเนอร์ เน้นการปลูกแนวตั้ง (Vertical Farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่
4) ความยั่งยืน (Sustainability) ใช้น้ำน้อยกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม (เช่น ระบบไฮโดรโปนิกส์หรือแอโรโปนิกส์) ลดการใช้สารเคมีและของเสีย
สำหรับโรงเรือนเกษตรโครงสร้างเหล็กแบบโมดูลาร์ หรือ “Modular Farm” นี้ ถูกนำไปจัดแสดงในงาน FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก
หากท่านใดสนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเรืองฤทธิ์ กองธรรม หัวหน้าสำนักธุรกิจโซลูชั่นอาคารเกษตรกรรม “เอสเอสไอ” (RoengritK@ssi-steel.com)
“Modular Farm” คืออนาคตของเกษตรยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ช่วยลดคาร์บอนและลดต้นทุน
Innovate • Tomorrow

18Feb/25

สานสัมพันธ์-สร้างการมีส่วนร่วมชุมชนบางสะพาน กลุ่มเหล็กสหวิริยาจัดกิจกรรมเครือข่ายร่วมพัฒนา

กลุ่มเหล็กสหวิริยา(SSI,TCRSS, BSBM, TCS, WCE, PPC) พัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม-สร้างความสามัคคี เครือข่ายร่วมพัฒนาชุมชนบางสะพาน อาทิ เครือข่ายด้านสังคม การศึกษา เครือข่ายธนาคารชุมชน สภาผู้นำชุมชน เครือข่ายประมง และสื่อมวลชนท้องถิ่น จัดงานสานสัมพันธ์เครือข่ายร่วมพัฒนาชุมชนบางสะพานปี พ.ศ.2568 “กลุ่มเหล็กสหวิริยาร่วมพัฒนาบางสะพานตามแนวทาง ESG” โดยได้รับเกียรติจากนายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นายอำเภอบางสะพาน เป็นประธานเปิดงาน ณ หอประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง
ทั้งนี้ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสื่อสารนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนในปี 2568 ตามแนวทาง ESG ของกลุ่มเหล็กสหวิริยา โดยนายผดุงศักดิ์ ปราณอุดมรัตน์ ผู้บริหารกลุ่มเหล็กสหวิริยา และชมวิดีทัศน์ สรุปผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกลุ่มเหล็กสหวิริยาในปี 2567 ที่ผ่านมา นอกจากจากนี้ยังจัดให้มีการแข่งขันกีฬาสานสัมพันธ์เครือข่ายพัฒนาชุมชนบางสะพาน โดยนำกีฬาพื้นบ้านมาจัดการแข่งขัน อาทิ วิ่งลูกโป่งน้ำ วิ่งผลัดท่อ กรอกน้ำใส่ขวด ส่งลูกไปโรงเรียน เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 250 คน บริเวณลานด้านหน้าหอประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วย 1) Environment คือ ความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม 2) Social คือ การจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือโดยรวมเรียกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม และ 3) Governance นั่นคือการกำกับดูแลกิจการที่ดีภายใต้หลักแห่งธรรมาภิบาล โปร่งใส เชื่อถือได้ และแนวคิด ESG นี้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

17Feb/25

พัฒนาวิศวกร-นักวิจัยรุ่นใหม่ SSI จัดเวทีโชว์ผลงานสร้างสรรค์

SSI จัดงาน EN&R Superpower Contest 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้วิศวกรและนักวิจัยรุ่นใหม่ในสายการผลิต ได้นำเสนอและประกวดผลงานด้านการปรับปรุงเชิงวิศวกรรม (Engineering Improvement) และการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ที่ได้ดำเนินการสำเร็จในปีที่ผ่านมา ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า “EN&R SUPERPOWER” ซึ่งกิจกรรมนี้มุ่งเน้นให้บุคลากรได้ใช้ความรู้และความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานเชิงคิดค้น เพื่อการปรับปรุงที่มีประสิทธิผลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ให้เพื่อนร่วมงานได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยมีนายทนงศักดิ์ แข่งขัน ผู้ช่วยกรรมการใหญ่ สายการผลิต กล่าวเปิดงาน
สำหรับการจัดงานในปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ใช้ธีมงาน “Real Steel” ภายใต้แนวคิด “Fighting Spirit” ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมขององค์กร iFact+ คนเก่ง ดี มีใจ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของ “อะตอม” หุ่นยนต์นักสู้ที่ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความมุ่งมั่น ร่วมกับ แม็กซ์ และ ชาร์ลี เคนตัน ผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทาย จนสามารถนำพาอะตอมไปสู่สังเวียน WRB (World Robot Boxing) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เรื่องราวนี้สะท้อนถึงการทำงานของชาว SSI ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
ซึ่งในปีนี้มีทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 7 ทีม โดยได้รับเกียรติจากผศ.ดร.ปราโมทย์ กุศล อาจารย์ประจำหลักสูตร วิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพรและอาจารย์ ดร. ธีรวัส คำหน่อแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นคณะกรรมการตัดสินผลงาน ซึ่งผลการตัดสินทีม Mechcore ได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน Engineering Improvement และทีมมาแล้วมาอีก ได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน Research & Development
Innovate • Tomorrow

13Feb/25

เหล็กสหวิริยาพัฒนาประมงบางสะพานยั่งยืน ผนึกกำลังเครือข่ายประมง-ทิ้งซั้งบอกรักทะเล

“กลุ่มเหล็กสหวิริยา” (SSI-TCRSS-TCS-WCE-BSBM-PPC) เครือข่ายชาวประมงบางสะพาน และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง ร่วมดำเนินกิจกรรม “ซั้ง…บอกรักทะเล” ภายใต้โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมทิ้งซั้ง (ซั้งกอ) ประจำปี 2568 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติบ้านอ่าวยาง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน มีนายสุทิน ประเสริฐศักดิ์ นายอำเภอบางสะพาน กล่าวต้อนรับ และนายทนงศักดิ์ แข่งขัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิต บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) มอบป้ายสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรม ทิ้งซั้งกอ โดยปล่อยลูกปูน จำนวน 150 ลูก ปล่อยพันธุ์ปูม้า จำนวน 5,000,000 ตัว และปล่อยพันธุ์หอยหวาน จำนวน 990,000 ตัว โดยมีเครือข่ายต่างๆเข้าร่วม อาทิ ประมงอำเภอบางสะพาน เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลบางสะพาน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตำรวจน้ำ ตรวจการประมง บริษัท ปตท.สำรวจปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกระทรวงพลังงาน อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) อบต.พงศ์ประศาสน์ อบต.ธงชัย เทศบาลตำบลบ้านกรูด และสถานศึกษาในพื้นที่ตำบลแม่รำพึง เป็นการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญในการส่งเสริมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง ในบริเวณอ่าว อบต.แม่รำพึงและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำรวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่งให้มีความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้กลุ่มเหล็กสหวิริยาได้ดำเนินโครงการประมงบางสะพานยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงเครือข่ายประมง การมีส่วนร่วมสร้างความสมบูรณ์ระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ด้วยการวางซั้งกอให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งอำเภอบางสะพาน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การทำความสะอาดชายหาด การพัฒนาและเสริมสร้างความรู้กลุ่มประมงและเยาวชน รวมถึงการต่อยอดการตลาดและโอกาสทางธุรกิจด้วย เพื่อต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวประมงบางสะพาน ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันและทำประมงอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนสามารถต่อยอดไปถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าพร้อมเชื่อมโยงการตลาดและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป